ทฤษฎีบุคลิกภาพของคาร์ล ยุง

Last updated: 2 Feb 2019  | 

ทฤษฎีบุคลิกภาพของคาร์ล ยุง

Mindful Way of Life

คาร์ล กุสตาฟ ยุง เป็นนักจิตวิทยาบำบัดและจิตแพทย์ชาวสวิส ผู้ก่อตั้งทฤษฎีจิตวิทยาการวิเคราะห์ (Analytical psychology) โดยพัฒนาต่อยอดจากจากทฤษฎีจิตวิเคราะห์ (Psychoanalysis หรือ Psychoanalytic theory) ของซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud)

ยุงเคยสนิทสนมเป็นอย่างยิ่งกับซิกมันด์ ฟรอยด์ แต่ต่อมามิตรภาพของทั้งสองสิ้นสุดลงเนื่องจากการพัฒนาทฤษฎีที่ฉีกแนวออกไปจากที่ฟรอยด์ดำริไว้ โดยยุงเชื่อว่ามนุษย์มีแนวโน้มที่จะนำประสบการณ์ที่ได้รับจากบรรพบุรุษมาแสดงออกเป็นพฤติกรรม จึงนำเสนอองค์ประกอบของจิต (Psyche) ว่าแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้

                จิตสำนึก (Ego หรือ Consciousness) ซึ่งก็เป็นจิตในระดับที่รู้สึกตัว ใช้เหตุใช้ผล

                ประสบการณ์ไร้สำนึก (Personal unconscious) ซึ่งหมายถึงประสบการณ์ส่วนบุคคลที่มีการรับรู้ในระดับจิตสำนึกมาก่อน แต่มีการเก็บกด ละเลยเพิกเฉยจนถูกผลักไปในส่วนของจิตไร้สำนึกด้วยเหตุผลบางประการ แต่ก็อาจนำคืนมาได้หากมีสิ่งเร้ามากระตุ้น (เปรียบเทียบ “จิตใต้สำนึก” (pre-conscious หรือ sub-conscious) ของฟรอยด์)

                จิตไร้สำนึกที่สะสมมาแต่อดีตกาล (Collective unconscious) คำว่า collective ซึ่งหมายถึงผลรวมของประสบการณ์ไม่เพียงรวมถึงประสบการณ์ในชาตินี้ แต่ยังหมายรวมถึงประสบการณ์ในอดีตชาติของมนุษย์อีกด้วย ทฤษฎีนี้ของยุงจึงมีความโดดเด่นไม่เหมือนใคร แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นแนวทางที่ถูกตั้งคำถามมากด้วยเช่นกัน โดยได้รับคำวิจารณ์ว่าเป็นเสมือนเทพนิยายหรือตำนาณโบราณมากกว่าที่จะเป็นทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์

                ภายใต้ทฤษฎีเรื่องจิตไร้สำนึก มีการแบ่งระบบภายในออกเป็นหลายองค์ประกอบ ได้แก่

                     ► ต้นแบบหรือแม่แบบ (archetype) ซึ่งเป็นรูปแบบในการแสดงพฤติกรรม เช่น แม่แบบของแม่ (ต้นแบบความดีของแม่) หรือแม่แบบของสุริยเทพ (ต้นแบบความยิ่งใหญ่ ความสว่าง ความอบอุ่นของพระราชา) แม่แบบของพลังธรรมชาติ (ต้นแบบวีรบุรุษผู้มีความเข้มแข็งกล้าหาญ)

                      ► หน้ากาก (persona) หมายถึงบทบาทที่บุคคลแสดงออกในสังคม ซึ่งอาจเรียกว่าเป็นบุคลิกภาพที่แสดงออกต่อสาธารณะ (public personality) เป็นการตอบโจทย์ต้นแบบหรือแม่แบบ (archetype) ของตน

                      ► ปม (complex) เป็นส่วนประกอบของประสบการณ์ไร้สำนึก หรือจิตไร้สำนึกส่วนบุคคล ซึ่งมักเกี่ยวข้องอำนาจหรือสถานะของบุคคล เป็นต้นตอของลักษณะอารมณ์ของบุคคล ยุงเน้นว่าปมโดยตัวเองอาจไม่ได้เป็นเชิงลบเสมอไป แต่ผลกระทบของปมมีผลกระทบกับบุคลิกภาพ รบกวนการทำงานของจิต (functions การทำงานของจิต 4 ประการ ได้แก่ ความรู้สึก ความคิด ญาณหยั่งรู้ และการรับรู้ทางประสาทสัมผัส) ปมที่บุคคลไม่รับรู้ (ถูกเก็บกดไว้ในจิตไร้สำนึก) เป็นตัวขับเคลื่อนพฤติกรรมและการแสดงออกทางอารมณ์ในแบบที่ควบคุมไม่ได้ ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคทางจิต การรู้จักปมของตนเองจึงมีประโยชน์ในแง่ของการใช้เป็นแรงจูงใจในการพัฒนาตนเอง เป็นต้น

                      ► เงา (shadow) คือสัญชาติญาณแบบสัตว์ในบุคคล ซึ่งสะท้อนถึงพฤติกรรมที่ยังไม่ได้ขัดเกลา ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่สังคมไม่ยอมรับ จึงมักถูกซ่อนไว้ภายใต้หน้ากาก

                      ► ตัวตน (self) เป็นหลักการที่เราใช้สร้างบุคลิกภาพ (ความเป็นตัวเรา) โดยถือเป็นศูนย์กลางของบุคลิกภาพ กระบวนการจัดศูนย์กลางของบุคลิกภาพนี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะนำไปสู่การกลายเป็นปัจเจก (Individualization)

                      ► ลักษณะของหญิงที่มีอยู่ในชาย (anima) ลักษณะของชายที่มีอยู่ในหญิง (animus) เป็นลักษณะของเพศตรงข้ามที่แฝงอยู่ในบุคคลในระดับจิตไร้สำนึกแบบ collective โดยยุงกล่าวว่า ความอ่อนไหวของผู้ชายซึ่งถือว่าเป็นลักษณะของหญิงที่แฝงอยู่มักถูกเก็บกดไว้และอาจพิจารณาได้ว่าเป็นปมที่สำคัญที่สุดประการหนึ่ง ลักษณะแฝงดังกล่าวมักแสดงตัวในรูปของความฝันและมีอิทธิพลต่อทัศนคติและปฏิสัมพันธ์กับเพศตรงข้าม
 
ยุงได้แบ่งลักษณะทางบุคลิกภาพของบุคคลออกเป็น 2 แบบ ดังนี้

              1. บุคลิกภาพแบบเปิดตัว (Extroversion) มีเจตคติหันออกจากตนเอง โดยมีลักษณะชอบเข้าสังคม ชอบแสดงตัว ช่างพูด เปิดเผย ชอบสร้างความสัมพันธ์

              2. บุคลิกภาพแบบเก็บตัว (Introversion) มีเจตคติหันเข้าหาตนเอง โดยจะมีลักษณะตรงกันข้ามกับบุคลิกแบบเปิดตัว

              ตามยุง บุคคลต่างมีบุคลิกภาพทั้งสองแบบอยู่ในตัวแล้วแต่ว่าแบบใดจะเด่นกว่า บุคลิกภาพทั้งสองแบบเกี่ยวข้องกับใช้หน้าที่การทำงานของจิต ได้แก่ ความรู้สึก ความคิด ญาณหยั่งรู้ และการรับรู้ทางประสาทสัมผัส และรูปแบบการเรียนรู้ของบุคคล บุคลิกภาพแบบเปิดตัวอาจเน้นการรับรู้จากประสาทสัมผัส (Extroverted sensing) ในขณะที่บุคลิกภาพแบบเก็บตัวอาจใช้ความรู้สึก ความคิด หรือญาณหยั่งรู้ (Introverted intuition) มากกว่า

              หากบุคคลได้พัฒนาบุคลิกภาพโดยมีแบบใดแบบหนึ่งมากเกินไป การวิเคราะห์ทางจิตอาจช่วยให้บุคคลตระหนักรู้ว่าเขาได้ละเลยการพัฒนาบุคลิกภาพด้านใดไป ซึ่งอาจช่วยสร้างความสมดุลระหว่างบุคลิกภาพทั้งสองแบบได้ เช่น บุคคลผู้ทำตัวเป็นผู้คุมกฎทางศีลธรรมที่มุ่งมองออกนอกตัว แล้วกล่าวโทษผู้อื่น (projection of one’s own shadow to others) ก็อาจหันมองกลับเข้ามาดูตนเองมากขึ้น

ผลงานของยุงมีอิทธิพลต่อจิตเวชศาสตร์ วรรณกรรม และอีกหลายๆ สาขาที่เกี่ยวข้อง แม้บางทฤษฎีเป็นที่ถกเถียงเนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับความเชื่อทางศาสนาซึ่งไม่อาจพิสูจน์ได้ทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน

ตั้งแต่ ค.ศ. 1913 (ปีที่แยกทางจากฟรอยด์) ยุงได้ทดลองเกี่ยวกับมโนภาพหรือภาพในใจด้วยการคิดสร้างภาพในใจและจินตนาการอย่างจงใจ โดยตั้งคำถามว่าเมื่อทำดังนี้แล้วจะเกิดอะไรขึ้นหากจิตสำนึกดับลง ซึ่งคือการเผชิญหน้ากับจิตไร้สำนึก และเมื่อความฝันปรากฏตัว ยุงก็จะค้นคว้าต่อไปว่าความฝันนี้เป็นสัญลักษณ์แทนอะไร มาปรากฏให้เห็นเพื่ออะไร ยุงได้บันทึกกิจกรรมการทดลองดังกล่าวในวารสารชุด 6 เล่มซึ่งเรียกรวมว่า Black Books

ในช่วงปลายปี ค.ศ. 1914 ยุงเห็นว่าประสบการณ์ทางจินตภาพของเขาไม่ใช่เป็นแค่เรื่องส่วนตัวเท่านั้น แต่มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องไปถึงเรื่องราวของสังคมวัฒนธรรมด้วย จึงได้จัดทำต้นฉบับที่เขียนด้วยลายมือ พร้อมภาพลายเส้น บันทึกจินตภาพต่างๆ จากการทดลองพร้อมคำอธิบาย ซึ่งเรียกว่า Liber Novus โดยในปี ค.ศ. 1915 เขาได้นำต้นฉบับดังกล่าวมาจัดทำเป็นรูปเล่มอย่างมีศิลปะ (ซึ่งต่อมาเป็นที่รู้จักกันในนาม The Red Book) จากนั้นเป็นเวลา 16 ปี ยุงหยุดนำต้นฉบับ Liber Novus เข้ามาใส่ The Red Book โดยเนื้อหาที่โอนถ่ายมาแล้วคิดเป็น 2 ใน 3 ส่วนของ Liber Novus

หนังสือ The Red Book ไม่มีการตีพิมพ์จนกระทั่งยุงเสียชีวิตไปแล้วหลายทศวรรษ ในที่สุดทายาทของยุงตัดสินใจที่จะอนุญาตให้ตีพิมพ์ The Red Book ซึ่งเล่มที่ได้เรียบเรียงขึ้นเพื่อตีพิมพ์มีเนื้อหาของต้นฉบับ Liber Novus ส่วนที่ไม่ได้นำเข้าไปไว้ในเล่ม The Red Book ต้นฉบับด้วย

The Red Book ดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ. 2009 โดย Sonu Shamdasani (บรรณาธิการและผู้แปล), Mark Kyburz (ผู้แปล) และ John Peck (ผู้แปล) ส่วนต้นฉบับ The Red Book ภาษาเยอรมันในปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่ห้องนิรภัยของธนาคารในเมืองซูริค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

ยุงได้มีวาทะสำคัญที่ผู้เรียบเรียงเห็นว่ามีความสอดคล้องกับความรู้จากการปฏิบัติภาวนาเชิงทางพุทธศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง ซึ่งน่าจะเป็นประสบการณ์การหยั่งรู้ที่ได้จากการทดลองทางจิตกับตัวยุงเองที่กล่าวถึงแล้วข้างต้น นั่นก็คือ

"ภาพแห่งความคิดของคุณจะปรากฏให้เห็นเด่นชัด
ก็ต่อเมื่อคุณมองเข้าไปให้ถึงจิตถึงใจ
ผู้ใดมองออกไปข้างนอก (ส่งจิตออกนอก) กำลังฝันอยู่
ผู้ใดมองเข้ามาภายใน (ดูใจของตนเอง) ตื่นรู้"
 
คาร์ล กุสตาฟ ยุง
แปลโดย สำนักพิมพ์หกเหลี่ยม


วาทะการดูจิตดังกล่าวที่เผยแพร่เป็นภาษาอังกฤษ คือ

"Your vision will become clear only
when you look into your heart.
Who looks outside, dreams.
Who looks inside, awakens."
 
C. G. Jung

 

รายการอ้างอิง

Stangroom, J. (2018). Psychology: 50 Ideas in 500 words (Rev. ed.). London: Elwin Street Productions Limited.

คาร์ล ยุง. สืบค้นจาก https://th.wikipedia.org/wiki/คาร์ล_ยุง

จิตแพทย์แห่งมวลมนุษย์ คาร์ล กุสตาฟ จุง. สืบค้นจาก http://www.newheartawaken.com/guru/23

ทฤษฎีบุคลิกภาพของคาร์ จี จุง (Carl G. Jung Theory). สืบค้นจาก https://lotus062.wordpress.com/2010/08/15/%E0%B8%97%E0%B8%A4%E0%B8%A9%E0%B8%8E%E0%B8%B5%E0%B8%9A%E0%B8%B8%E0%B8%84%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%8C-%E0%B8%88/

Anima and animus. Retrieved from https://en.wikipedia.org/wiki/Anima_and_animus

Complex (psychology). Retrieved from https://en.wikipedia.org/wiki/Complex_(psychology)

Complex. Retrieved from https://frithluton.com/articles/complex/

The Red Book (Jung). Retrieved from https://en.wikipedia.org/wiki/The_Red_Book_(Jung)

The Red Book (Jung). Retrieved from http://self.gutenberg.org/articles/red_book_(jung)?view=embedded
 

เรียบเรียงโดยทีมงาน Six Facets Press

Powered by MakeWebEasy.com
This website uses cookies for best user experience, to find out more you can go to our Privacy Policy  and  Cookies Policy